สาเหตุ ผลกระทบ และทางออกเมื่อพบปัญหาลูกฟันยื่น
ปัญหาฟันยื่นในเด็กเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวมักมองข้าม เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็ก หรือคิดว่าจะหายได้เองเมื่อโตขึ้น แต่ฟันที่ยื่นออกมาจนฟันบนครอบฟันล่าง (ฟันเหยิน) นอกจากจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในรอยยิ้มแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบดเคี้ยว การออกเสียง รวมถึงการดูแลรักษาฟันที่ซับซ้อนขึ้น
ดังนั้น การรู้จักสาเหตุและผลกระทบของฟันยื่น หรือปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติลักษณะอื่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวและดูแลฟันลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง
ลักษณะฟันยื่นในเด็กเป็นอย่างไร ?
คำกล่าวว่า ‘เด็กฟันเหยิน’ หรือ ‘เด็กฟันยื่น’ เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมาอย่างยาวนาน แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นภาพว่าฟันเหยินหรือฟันยื่นที่คนทั่วไปพูดกัน มีลักษณะอย่างไรกันแน่ แล้วลูกของเรามีปัญหาฟันยื่นที่ต้องได้รับการรักษาหรือไม่ นี่คือ 2 ลักษณะสำคัญของเด็กฟันยื่นที่พ่อแม่ควรใส่ใจ เพื่อให้รับมือได้อย่างถูกวิธี
1. ฟันบนยื่นออกมาด้านหน้ามากกว่าฟันล่าง
กล่าวง่าย ๆ คือฟันบนยื่นออกมาด้านหน้ามากเกินไป (Overbite) ส่งผลให้ฟันบนคร่อมฟันล่างและไม่สามารถสบกันได้ เพราะฟันล่างจะถูกซ่อนไว้ ปากของเด็กที่มีฟันยื่นลักษณะนี้จึงอูมผิดปกติ หากฟันบนยื่นมากเกินไป อาจมีความเสี่ยงที่ฟันล่างจะกัดเหงือกด้านบนจนเกิดแผลได้
2. ฟันหน้าไม่เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน
นอกจากปัญหาฟันบนคร่อมฟันล่างที่พบได้มากแล้ว อีกหนึ่งลักษณะที่ไม่ควรมองข้าม คือฟันหน้าที่ไม่เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มักเกิดจากปัญหาการพัฒนาของฟันที่ไม่สมดุล สังเกตเห็นได้ทั้งในรูปของฟันซ้อนหรือฟันเก ซึ่งเด็กที่มีปัญหานี้มักเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุและโรคเหงือกได้ง่าย เนื่องจากทำความสะอาดฟันได้ยาก ส่งผลให้มีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันโดยไม่รู้ตัว
สาเหตุที่ทำให้เด็กฟันยื่น
ปัญหาลูกฟันยื่นหรือฟันเหยินเกิดได้จากหลายปัจจัย มีทั้งสาเหตุที่สามารถป้องกันได้และไม่สามารถป้องกันได้ โดยทั่วไป สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ 5 ประการเหล่านี้
1. กรรมพันธุ์
ลักษณะของโครงสร้างขากรรไกรหรือการเรียงตัวของฟันเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ดังนั้น หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวมีปัญหาฟันยื่นหรือฟันเหยิน โอกาสที่ลูกจะมีฟันยื่นก็สูงขึ้นตามไปด้วย
2. พฤติกรรมการดูดนิ้วหรือการใช้จุกนม
การดูดนิ้วหรือการใช้จุกนม ทำให้เด็กต้องใช้ลิ้นดุนฟันหน้าขณะดูดนิ้วหรือจุกนม เมื่อเด็กมีพฤติกรรมนี้เป็นเวลานาน ฟันหน้าด้านบนจะถูกดันออกไปข้างหน้าทีละนิด เป็นสาเหตุให้เกิดฟันยื่นได้
3. การหายใจทางปากเป็นประจำ
เมื่อหายใจทางปาก เด็กจะต้องอ้าปากบ่อย ๆ ทำให้ริมฝีปากปิดไม่สนิท ส่งผลให้แรงกดตามธรรมชาติที่ริมฝีปากควรจะมีต่อฟันหน้าบนลดลง ขณะที่แรงดันจากลิ้นและกล้ามเนื้อรอบปากอาจไม่สมดุล รวมทั้งส่งผลให้การวางลิ้นผิดตำแหน่ง ฟันบนจึงมีแนวโน้มยื่นออกมามากขึ้น
4. การเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรที่ผิดปกติ
การเจริญเติบโตที่ไม่สมดุลกันระหว่างกระดูกขากรรไกรบนและล่าง ทำให้เด็กฟันยื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อขากรรไกรบนเติบโตมากเกินไปหรือขากรรไกรล่างไม่เติบโตเพียงพอ
5. การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควร
สาเหตุสุดท้ายคือ ฟันน้ำนมหลุดก่อนวัยอันควร ฟันแท้ที่ขึ้นมาแทนที่จึงอาจไม่ได้ขึ้นมาในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดฟันยื่นหรือฟันซ้อนกันได้
ผลกระทบของฟันยื่น ฟันบนคร่อมฟันล่าง และการสบฟันผิดปกติแบบอื่น ๆ ในเด็ก
การมีฟันยื่นในเด็กไม่ได้ส่งผลเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก แต่ยังสร้างผลกระทบมากมายให้เด็ก ๆ ตั้งแต่เรื่องความมั่นใจไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน และนี่คือ 6 ผลกระทบสำคัญที่พ่อแม่และผู้ปกครองควรตระหนักตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันผลเสียในระยะยาว
1. ความมั่นใจในรอยยิ้มลดลง
ผลกระทบแรกที่ต้องเผชิญสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกฟันบนยื่นคือ เด็ก ๆ มักจะขาดความมั่นใจในการยิ้ม จึงส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งอาจกลายเป็นปมในใจได้ในอนาคต
2. มีปัญหาด้านการออกเสียง พูดไม่ชัด
ฟันที่ยื่นออกมาอาจทำให้การออกเสียงของเด็กไม่ชัดเจน หรือเกิดปัญหาในการพูดบางคำ โดยเฉพาะเสียงที่ต้องใช้ฟันหน้าในการช่วยออกเสียง เช่น เสียง ฟ, ซ, ส หรือ ว เป็นปัญหาด้านการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
3. การเคี้ยวอาหารผิดปกติ
เด็กฟันยื่นมักมีปัญหาการเคี้ยวอาหารไม่สมบูรณ์ ตั้งแต่การใช้ฟันกัดหรือฉีกอาหาร ไปจนถึงการบดเคี้ยว ส่งผลให้การย่อยอาหารไม่ดีเท่าที่ควรและนำไปสู่การเกิดปัญหาทางระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง
4. การสึกของฟันที่ไม่สม่ำเสมอ
ฟันที่ยื่นออกมาจะต้องรับแรงกระแทกหรือแรงบดเคี้ยวมากกว่าฟันซี่อื่น ทำให้ฟันหน้าที่อยู่ในตำแหน่งผิดปกติสึกหรอหรือบิ่นได้ง่ายกว่าฟันปกติ
5. ปัญหาสุขภาพช่องปาก
นอกจากจะเป็นปัญหาในวัยเด็กแล้ว ฟันยื่นในเด็กยังส่งผลต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาว เพราะการเรียงตัวที่ผิดปกติ ทำให้การรักษาความสะอาดและการกำจัดเศษอาหารหรือคราบพลัคทำได้ยากกว่า จึงก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากอื่น ๆ ตามมา เช่น ฟันผุ โรคเหงือก
6. ปัญหาทางโครงสร้างใบหน้า
ฟันยื่น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รูปร่างและโครงสร้างใบหน้าดูไม่สมดุล เช่น ทำให้ริมฝีปากบนปิดไม่สนิท หน้าดูอูม หรือมีร่องใต้คางผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจในตัวเองไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
วิธีแก้ปัญหาลูกฟันยื่นอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
หากพบว่าลูกฟันยื่นและอยากแก้ปัญหานี้อย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันผลกระทบในระยะยาว คุณสามารถทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา โดยเบื้องต้นมีวิธีแก้ปัญหาที่แนะนำ ดังนี้
1. การสังเกตและปรับพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่น ๆ
เริ่มจากหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เช็กว่าลูกมีพฤติกรรมชอบดูดนิ้ว ติดจุกนม หรือหายใจทางปากไหม เพื่อปรับให้ลูกเลิกพฤติกรรมเหล่านั้นก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียงตัวของฟัน
2. การสอนพฤติกรรมที่ดีในการดูแลฟัน
สิ่งถัดไปที่พ่อแม่ควรทำคือ การปลูกฝังพฤติกรรมการดูแลฟันที่ดีให้ลูกตั้งแต่เล็ก ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันให้ถูกวิธีและสม่ำเสมอ หรือการใช้ไหมขัดฟันเพื่อขจัดเศษอาหาร นอกจากจะแก้ปัญหาเด็กฟันยื่นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดฟันผุและโรคเหงือกได้ด้วย
3. การพาลูกไปพบทันตแพทย์เด็กอย่างสม่ำเสมอ
การพาลูกไปพบทันตแพทย์เด็กทุก 6 เดือนเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อรับคำแนะนำด้านการดูแลช่องปากที่ถูกต้องและทำให้ตรวจพบปัญหาลูกฟันบนยื่นตั้งแต่เริ่มต้น นำไปสู่การวางแผนรักษาและการดูแลอย่างถูกวิธี
4. การใช้เครื่องมือจัดฟันแบบใสหรือ Invisalign สำหรับเด็ก
การจัดฟันแบบใสจะช่วยปรับตำแหน่งของฟันที่ยื่นออกมาได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือโลหะที่อาจทำให้เด็กไม่มั่นใจและรู้สึกระคายเคืองช่องปาก ทำให้ฟันเรียงตัวได้ดีขึ้น อีกทั้งยังง่ายต่อการรักษาความสะอาด
5. การผ่าตัดขากรรไกร
หากทันตแพทย์ตรวจพบว่าปัญหาฟันยื่นมีสาเหตุมาจากขากรรไกรเจริญเติบโตไม่สมดุล อาจพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดขากรรไกร เพื่อปรับตำแหน่งขากรรไกรให้เหมาะสม ลดการเกิดผลข้างเคียงที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
หากต้องการวางแผนแก้ปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติให้ลูกเพื่อป้องกันผลกระทบในระยะยาว รับคำปรึกษากับทันตแพทย์ได้ที่ MITI Dental เราพร้อมดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กทุกช่วงวัยอย่างใกล้ชิด เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาฟันยื่นที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย พร้อมบริการจัดฟันใสสำหรับเด็กและทุกคนในครอบครัวโดยทีมทันตแพทย์ชำนาญการหลายสาขา ช่วยให้ฟันเรียงตัวอย่างเหมาะสม นำไปสู่สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นในระยะยาว
MITI Dental ตั้งอยู่กลางซอยอารีรักษ์ สุขุมวิท 50 ห่างจาก BTS อ่อนนุชเพียง 500 เมตร พร้อมที่จอดรถกว่า 10 คัน เปิดบริการทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายเข้าพบทันตแพทย์ได้ที่เบอร์ 092-288-8061 หรือ LINE Official Account : @mitiwellness
ข้อมูลอ้างอิง:
Overbite. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2568 จาก https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21473-overbite
แก้ฟันเหยินโดยไม่จัดฟันทำได้หรือไม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2568 จาก https://dragcura.com/oral-tip/fix-crooked-teeth-without-braces/